วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เรามารู้จักชนิดของแก้วกันนะครับ

ในบทความคราวก่อนเราได้ทำความรู้จักกับแท่งแก้ว หรือ กระจกทนความร้อน หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า sight glass หรือ level gauge glass ยี่ห้อ maxos ซึ่งใช้สำหรับดูระดับน้ำในบอยเลอร์ ในครั้งนี้ผมจะขอกล่าวถึงชนิดของแก้วที่เรามีใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่ง สามารถแบ่งออกได้เป็น 11 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีส่วนประกอบทางเคมี (Chemical Compositions) ที่ต่างกัน ดังนั้นแก้วแต่ละชนิดจึงมีคุณสมบัติทางกายภาพ (Physical Properties) และคุณสมบัติทางเคมี (Chemical Properties) ที่แตกต่างก้ัน ทั้งเรามาดูรายละเอียดของแก้วแต่ละชนิดกันครับ


1. Alkalies-Barium Silicate Glass: เป็น แก้วที่ใช้ในการผลิตจอภาพของโทรทัศน์ เนื่องจากในการทำงานของโทรทัศน์จะมีการปล่อยรังสีเอ็กซ์ (X-Ray) ออกมาในปริมาณมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงมีนำแก้วชนิดนี้มาผลิตเป็นจอภาพ เนื่องจากการที่แก้วชนิดนี้มีคุณสมบัติในการสามารถดูดซับรังสีเอ็กซ์ (X-Ray) ได้ทำให้ผู้ชมสามารถดูโทรทัศน์ได้อย่างปลอดภัย


2. Aluminosilicate Glass: แก้วอลูมิโนซิลิเกตเป็นแก้วที่มีส่วนประกอบเป็นอลูมีเนียมออกไซด์  (aluminium oxide (Al2O3)) ประมาณ 20% (ส่วนใหญ่มักจะมีส่วนประกอบของแคลเซียมออกไซด์ (calcium oxide (CaO)) ปนอยู่ด้วยเล็กน้อย) รวมทั้งยังมีส่วนประกอบที่เป็นแมกนีเซียมออกไซด์ (magnesium oxide (MgO)), บอริกออกไซด์ (boric oxide (B2O3)), โซเดียมออกไซด์ (sodium oxide (Na2O)) และโพแทสเซียมออกไซด์ (potassium oxide (K2O)) ในปริมาณสัดส่วนที่เล็กน้อย โดยเฉพาะการที่มีสัดส่วนของโซดา หรือ โซเดียมออกไซด์ และโพแทส หรือ โพแทสเซียมออกไซด์ในปริมาณที่น้อย ทำให้แก้วชนิดนี้สามารถทนทานต่ออุณหภูมิสูง (High Thermal Resistance) และทนทานสภาวะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างฉับพลัน (Thermal Shock Resistance) ได้ดี จึงนิยมใช้แก้วชนิดนี้ในการผลิต Combustion Tube (เป็นหลอดแก้วที่ติดตั้งใน Furnace เพื่อใช้ในการเผาไหม้สารต่างๆ กับอากาศ หรือออกซิเจน) นอกจากนี้ยังใช้แก้วอลูมิโนซิลิเกตใน High Pressure Steam Boiler และใช้ในการผลิตหลอดฮาโลเจน-ทังสเตน (halogen-tungsten lamp) เป็นแก้วที่ทนอุณหภูมิได้สูงมาก โดยทนได้ถึง 750 องศาเซลเซียส


3. Borosilicate Glass: แก้ว ชนิดนี้จะเป็นแก้วที่เราค่อนข้างจะคุ้นเคย เนื่องจากเราจะพบเห็นอุปกรณ์ หรือเครื่องใช้หลายชนิดที่ผลิตจากแก้วชนิดนี้ เช่น ภาชนะแก้วทนความร้อนต่างๆ (ovenware หรือ heat resisting ware อย่างผลิตภัณฑ์ยี่ห้อหนึ่งที่คนส่วนใหญ่รู้จัก ซึ่งก็คือ Pyrex) ทั้งนี้แก้วโบโรซิลิเกตจะมีส่วนประกอบหลักเป็นซิลิกา (silica) ประมาณ 70 - 80% และมีส่วนประกอบเป็นบอริกออกไซด์ (boric oxide (B2O3) ประมาณ 7 - 13% นอกเหนือจากนั้นจะเป็นส่วนประกอบของโซเดียมออกไซด์ (sodium oxide (Na2O)), โพแทสเซียมออกไซด์ (potassium oxide (K2O)) และอลูมิเนียมออกไซด์ (aluminium oxide (Al2O3)) ในปริมาณเล็กน้อย จากการที่มีส่วนประกอบของสารประกอบออกไซด์ของโลหะอัลคาไล (โซเดียมออกไซด์ และโพแทสเซียมออกไซด์) ในปริมาณที่น้อย จึงทำให้แก้วชนิดนี้สามารถทนทานต่อสารเคมีต่างๆ (High Chemical Resistance) และทนทานต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างฉับพลัน (Thermal Shock Resistance) ได้ดี ดังนั้นจึงมีการนำแก้วชนิดนี้มาใช้งานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอย่างแพร่หลาย เช่น อุปกรณ์เครื่องแก้วในห้องปฏิบัติการ (laboratory apparatus อย่างหลอดทดลอง (test tube),  หลอด ampoules, บีกเกอร์ (beaker), ขวดรูปชมพู (flask), บิวเรต (buret) เป็นต้น) นอกจากนี้ยังมีการใช้แก้วชนิดนี้ในการผลิตเป็นอุปกรณ์หลอดไฟ และใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตใยแก้ว (glass fiber) ที่ใช้สำหรับการผลิตเป็นผ้าฉนวนกันความร้อนต่างๆ และการใช้เป็นส่วนประกอบที่เสริมความแข็งแรงให้กับผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่น  glass filled teflon, glass filled nylon, glass filled polypropylene เป็นต้น


4. Commercial Glass: แก้ว ชนิดนี้เป็นแก้วที่เราคุ้นเคยมากที่สุด เพราะเราจะพบเห็น และใช้งานแก้วชนิดนี้อยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน เช่น ขวดแก้ว (bottles), แก้วน้ำ (drinking glasses), แผ่นกระจกที่ใช้ทำหน้าต่าง (flat glass for window), เหยือกน้ำ (jars) ซึ่งแก้วชนิดนี้จะมีชื่อเรียกว่า  "commercial glass" หรือ "soda lime glass" แก้วชนิดนี้มีส่วนประกอบหลักเป็นทราย (sand) โดยเป็นนำทรายมาหลอมด้วยความร้อนสูงประมาณ 1,700 องศาเซลเซียส เพื่อผลิตเป็นแก้ว (แก้วบางชนิดมีการใส่สารเคมี หรือแร่ธาตุบางอย่างเข้าไปจะทำให้ทรายมีจุดหลอดเหลว  (melting point) ที่ต่ำลง) อย่างการผลิตแก้วโซดาไลม์ (soda lime glass) จะมีการเติมโซดาแอช หรือโซเดียมคาร์บอเนต  (Na2CO3) ลงไป ซึ่งจะทำให้เกิดส่วนผสมของซิลิกา (silica (SiO2)) ประมาณ 75% และโซเดียมออกไซด์ (sodium oxide (Na2O)) ประมาณ 25% ซึ่งจะทำให้จุดหลอมเหลวของทรายต่ำลงเหลือ 800 องศาเซลเซียส ซึ่งแก้วที่ได้จะมีชื่อเรียกว่า "water glass" แก้วชนิดนี้จะละลายน้ำได้ จึงจำเป็นต้องมีการเติมหินปูน (limestone) ซึ่งจะมีส่วนประกอบของแคลเซียมออกไซด์ (calcium oxide (CaO)) และแมกนีเซียมออกไซด์ (magnesium oxide (MgO)) ลงไป เพื่อให้แก้วมีความคงตัว


ทั้งนี้ Commercial Glass โดยปกติแล้วจะไม่มีสี (colourless) ทำให้สามารถส่งผ่านแสงได้อย่างอิสระ จึงทำให้มีการนำแก้วชนิดนี้มาใช้เป็นอุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ที่ต้องการให้แสงส่องผ่านได้สะดวก เช่น หน้าต่าง แต่แก้วชนิดนี้สามารถทำให้มีสีได้ โดยการเติมสารเคมีบางชนิดที่ทำให้เกิดสีลงไป สำหรับส่วนประกอบของ commercial glass โดยทั่วไปจะมีส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้


- ซิลิกา (silica (SiO2)) ประมาณ 70 - 74%
- โซเดียมออกไซด์  (sodium oxide (Na2O)) ประมาณ 12 - 16%
- แคลเซียมออกไซด์  (calcium oxide (CaO)) ประมาณ 5 - 11%
- แมกนีเซียมออกไซด์  (magnesium oxide (MgO)) ประมาณ 1 - 3%
- อลูมิเนียมออกไซด์ (aluminium oxide (Al2O3)) ประมาณ 1 - 3%


โดยสำหรับการใช้งานที่ต่างกันก็จะมีส่วน ประกอบในแต่ละส่วนที่มากน้อยต่างกัน เช่น แผ่นกระจกสำหรับทำหน้าต่าง (flat glass for window) จะมีสัดส่วนของแมกนีเซียมออกไซด์ (magnesium oxide (MgO)) ที่น้อยกว่าแก้วที่นำมาผลิตเป็นภาชนะ เป็นต้น


5. Glass Ceramics: เป็นแก้วที่ผลิตจาก lithium aluminosilicate glass ซึ่งจะเป็นแก้วที่มีคุณสมบัติทนทานต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่าง ฉับพลันได้ดี  (thermal shock resistance) จากคุณสมบัติดังกล่าว จึงมีการนำแก้วชนิดนี้ไปใช้งานในหลายด้าน เช่น cooker hob​ (พื้นที่เรียบด้านบนสุดของเตา สำหรับเตาแม่เหล็กไฟฟ้า), เครื่องแก้วที่ใช้ทำอาหาร (cooking ware), missile nose cone (ส่วนประกอบของหัวจรวด) แก้วชนิดนี้จะมีคุณสมบัติทนความร้อน และทนทานต่อ thermal shock ได้ดีเป็นพิเศษ เนื่องจากในการผลิตแก้วชนิดนี้จะมีการกระตุ้นการสร้างผลึก (crystallization) และควบคุณสัดส่วนของปริมาณผลึกในแก้วให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดการผสมผสานคุณสมบัติที่ดีของแก้ว และเซรามิก ซึ่งจะทำให้ glass ceramics ที่ได้มีความแข็งแรง ทนทานยิ่งขึ้น


6. Glass Fiber: ใยแก้วจะมีส่วนประกอบแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่การลักษณะการนำไปใช้งาน เช่น ใช้เป็นฉนวนกันความร้อนบนหลังคา (roof insulation), ใช้เป็นอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ (medical equipments) อย่างอุปกรณ์ endoscope เป็นต้น ในกรณีที่จะใช้ใยแก้วในการเป็นฉนวนกันความร้อน และ glass wool จะใช้แก้วชนิด soda lime glass แต่ถ้าจะผลิตเป็นลักษณะของสิ่งทอ (textiles) จะใช้แก้วชนิด aluminosilicate glass ที่มีส่วนประกอบของ sodium oxide ต่ำ เพื่อให้ได้คุณสมบัติในการทนทานต่อสารเคมี และอุณหภูมิจุดอ่อนตัวที่สูง (high softening point)


นอกจากนี้ยังมีการนำใยแก้ว หรือ glass fiber มาใช้ในการเสริมความแข็งแรงให้กับพลาสติก เช่น หมวกนิรภัย, เรือ, ท่อ, เชือก, แชสซีส์รถยนต์, ท่อไอเสียรถยนต์ เป็นต้น รวมถึงยังมีการนำใยแก้วไปใช้ทำเป็น optical fiber หรือสายเคเบิ้ลใยแก้วที่สามารถใช้ในการส่งผ่านข้อมูล สัญญาณภาพ สัญญาณเสียงเพื่อใช้ในการสื่อสาร หรือส่งผ่านข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ


7. Lead Glass: ถูก เรียกโดยทั่วไปว่า "lead crystal" ซึ่งแก้วชนิดนี้จะถูกใช้ในการผลิตแก้วที่ใช้ในงานตกแต่ง (decorative glasses) โดยส่วนประกอบของแก้วชนิดนี้จะแตกต่างจากแก้วโดยทั่วไป คือ จะใช้ตะกั่วออกไซด์ (lead oxide (PbO)) แทนที่แคลเซียมออกไซด์ (calcium oxide (CaO)) และใช้โพแทสเซียมออกไซด์ (potassium oxide (K2O)) แทนที่โซเดียมออกไซด์ (sodium oxide (Na2O)) ทั้งนี้แก้วแบบ Traditional English Full Lead Crystal จะมีส่วนประกอบของ lead oxide อยู่อย่างน้อย 30% แต่ถ้าแก้วที่มี lead oxide อยู่อย่างน้อย 24% จะเรียกแก้วชนิดนี้ว่า "lead crystal" แต่แก้วที่มีส่วนประกอบของ lead oxide น้อยกว่า 24% จะเรียกว่า "crystal glass" ทั้งนี้ตะกั่ว หรือ lead จะถูกตรึงอยู่ในโครงสร้างเคมีของแก้ว ซื่งจะไม่ก่อเกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ถ้าแก้วมีปริมาณของ lead oxide สูงถึง 65% จะทำให้แก้วมีคุณสมบัติในการสามารถดูดซับรังสีแกมม่าได้ดี แต่สำหรับ lead glass ที่ใช้ในงานตกแต่งจะมีดัชนีหักเหแสง (refractive index) สูงจึงทำให้เกิดประกายแสงระยิบระยับ รวมทั้งตัวแก้วมีสภาพพื้นผิวที่อ่อนจึงสามารถนำมาบด ตัด แกะสลักได้ง่าย จึงเป็นที่นิยมในการนำมาทำภาชนะแก้วคริสตัล หรือใช้ในงานตกแต่งต่างๆ


8. Optical Glass: เป็นแก้วที่เราจะพบเห็นอุปกรณ์วิทยาศาตร์ (scientific instruments), อุปกรณ์ที่ใช้ศึกษาทางภูมิศาสตร์, กล้องจุลทรรศน์ (microscope), เลนส์กล้องถ่ายรูป, อุปกรณ์เกี่ยวกับเลเซอร์ เป็นต้น ทั้งนี้จากคุณสมบัติสำคัญของ optical glass คือ ดัชนีหักเหแสง (refractive index) และการกระจายของแสง (dispersion) ซึ่งจากการผสมผสานกันระหว่างคุณสมบัติทั้งสองทำให้ได้คุณสมบัติของ optical glass ที่หลากหลาย ส่งผลต่อคุณภาพ ความคมชัด และสีสันของภาพอย่างที่เราจะพบในเลนส์ของกล้องถ่ายภาพ


9. Sealing Glass: แก้ว ชนิดนี้จะมีส่วนประกอบที่หลากหลาย เพื่อใช้ในการป้องกันโลหะจากไฟฟ้า และส่วนประกอบ หรือชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์ต่างๆ ทั้งนี้แก้วชนิดนี้สามารถถูกจัดกลุ่มตามสัมประสิทธิ์การขยายตัวเนื่องจาก ความร้อน (thermal expansion coefficient) ซึ่งต้องสอดคล้องกับสัมประสิทธิ์การขยายตัวเนื่องจากความร้อนของโลหะ เพื่อที่จะทำให้สามารถปิดผนึก หรือป้องกันโลหะโดยปราศจากความเครียด (strain) ที่มากเกินไป อันเกิดขึ้นเนื่องจากสัมประสิทธิ์การขยายตัวเนื่องจากความร้อนของแก้ว และโลหะมีความแตกต่างกัน เช่น สำหรับโลหะทังสเตน (tungsten) ควรใช้แก้วชนิด borosilicate alkaline earth-aluminous silicate glass แต่ถ้าเป็นโลหะโมลิบดีนัม (molybdenum) และ iron-nickel-cobalt (Fernico) alloy ควรใช้ sodium borosilicate เป็นต้น


10. Technical Glass: เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกแก้วที่ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์ โดยแก้วที่มีส่วนประกอบที่ต่างกัน จะถูกใช้ในการป้องกันส่วนประกอบของแผ่นวงจรซิลิคอน (silicon semiconductor components) จากสารเคมี และความเสียหายจากการกระทบกระแทกซึ่งจะถูกเรียกว่า "passivation glass" ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่่สำคัญมากในอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กโทรนิกส์ (microelectronics industry) และการผลิตแผ่นชิบซิลิคอน (silicon chip) ส่วนแก้วชนิดต่อมาคือ "phosphate glass" ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) ซึ่งจะถูกใช้ในการผลิต electron multiplier ส่วนแก้วอีกชนิดหนึ่งคือ "chalcogenide glass" ซึ่งเป็นแก้วที่ใช้เป็นวัสดุในการส่งผ่านคลื่นอินฟราเรด และเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์สวิตซ์สำหรับหน่วยความจำในเครื่องคอมพิวเตอร์


11. Vitreous Silica: silica glass หรือ vitreous silica เป็นแก้วที่มีสัมประสิทธิ์การขยายตัวต่ำ (low thermal expansion) แก้วชนิดนี้นิยมนำมาทำเป็นตัวกรอง หรือ filter ซึ่งการทำให้แก้วมีรูพรุนจะเป็นใช้ปฏิกิริยาเคมีกับกรด ซึ่งแก้วที่มีรูพรุนนี้เราจะเรียกว่า "vycor"


หมายเหตุ:


ความเค้น (stress) หมายถึง แรงภายนอกที่มากระทำต่อวัตถุต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเค้นหมายถึงแรงต้านทานภายในเนื้อวัตถุต่อแรงภายนอกที่มากระทำต่อหน่วย พื้นที่ แต่เนื่องจากความยากในการวัดค่านี้จึงใช้นิยามที่กล่าวไปอันแรกแทน เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าค่าแรงภายนอกที่มากระทำสมดุลกับแรงต้านทานภายใน


ความเครียด (strain) หมายถึง การเปลี่ยนรูปของวัตถุเมื่อมีแรงภายนอกมากระทำ หรือหมายถึง การเปลี่ยนรูปของวัตถุเมื่อมีความเค้นเกิดขึ้น


ในส่วนของเราคิมเทค เทคโนโลยี เราเป็นผู้นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก้วจำพวกกระจกทนความร้อน หรือแท่งแก้ววัดระดับน้ำ ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "sight glass" หรือ "level gauge glass" โดยแท่งแก้วที่เรามีจำหน่ายจะเป็นผลิตจากแก้วชนิด borosilicate glass และ aluminosilicate glass  ซึ่งท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเราได้ที่


อีเมลล์: kimtech@hotmail.com
โทร: 02-8107979
โทรสาร: 02-8107889, 02-1940018
มือถือ: 083-9730969, 081-9859669 และ 081-9210255
เว็ปไซต์: http://www.kimtechgasket.com









วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แท่งแก้วโบโรซิลิเคต ( borosilicate sight glass ) ยี่ห้อ Maxos

กระจกทนความร้อน หรือ แท่งแก้ววัดระดับน้ำ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า sight glass หรือ level gauge glass ที่ใช้งานในการดูระดับน้ำในบอยเลอร์มีหลายชนิด หลายรูปแบบ ขึ้นกับการออกแบบของแต่ละโรงงาน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้แท่งแก้วที่เหมาะสมกับสภาวะการใช้งาน ในกรณีของวัสดุที่ใช้ในการผลิตแท่งแก้วก็มีการใช้วัสดุแก้วหลายชนิด ซึ่งก็ต้องมีการเลือกนำไปใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะการใช้งานของแต่ละโรงงานที่แตกต่างกัน เช่น แก้วโบโรซิลิเคต ( borosilicate glass ), แก้วอลูมิโนซิลิเคต ( aluminosilicate glass ), แก้วเทมเปอร์โซดาไลม์ ( tempered soda lime glass ) เป็นต้น ซึ่งสำหรับแก้วชนิด borosilicate และ aluminosilicate จัดเป็น safety glass ที่ทนทานต่อสภาวะการใช้งานที่รุนแรงได้ดี เช่น สภาวะที่อุณหภูมิสูง สภาวะที่อุณภูมิมีความผันผวน สภาวะที่ที่ความดันสูง ซึ่งทางเรา คิมเทค เทคโนโลยี ได้นำแท่งแก้วทั้งสองชนิดดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายภายใต้ยี่ห้อ  Maxos ซึ่งผลิตจากทั้งแก้วโบโรซิลิเคต (borosilicate glass) และแก้วอลูมิโนซิลิเคต (aluminosilicate glass) โดยจะมีจำหน่ายในรูปแบบแท่ง ( long form ) โดยจะแบ่งเป็นชนิดเรียบ ( transparent ) และ ชนิดมีร่อง ( reflex ) และรูปแบบกลม   ( circular sight glass หรือ disc sight glass ) โดยถ้าเป็นแก้วชนิดโบโรซิลิเคตจะสามารถทนอุณหภูมิได้ประมาณ 300 องศาเซลเซียส แต่ถ้าเป็นแก้วชนิดอลูมิโนซิลิเคตจะทนอุณหภูมิได้ประมาณ 375 องศาเซลเซียส โดยแก้วทั้งสองชนิดเป็นแก้วที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างเฉียบพลันได้ดี (High Resistance of Thermal Shock) ทั้งนี้ Maxos เป็นแบรนด์จากเยอรมนี ซึ่งมีการตั้งฐานการผลิตในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ ฯลฯ แต่แท่งแก้วในบางรุ่นบางขนาดก็มีการผลิตในเยอรมนีด้วย แต่สุดท้ายแท่งแก้วทั้งหมดที่ถูกผลิตจากประเทศต่างๆ จะถูกส่งกลับไปยังเยอรมนีเพื่อตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพก่อนที่จะส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ จึงสามารถมั่นใจในคุณภาพของแท่งแก้วทุกๆ ชิ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเราได้ที่

อีเมลล์: kimtech@hotmail.com
โทร: 02-8107979
โทรสาร: 02-8107889
มือถือ: 083-9730969, 081-9859669 และ 081-9210255
หรือเข้าชมเว็ปไซต์ของเราได้ที่ http://www.kimtechgasket.com